แอดปลูกอยู่ คือดีมากถ้าทำได้ แนะนำว่านอกจากกินเองแล้ว ยังขายเพื่อนๆกันได้ด้วยนะครับ
เพียงแต่ช่วงผ่านมา อาจไม่ค่อยมีใครทราบเท่าไหร่นักว่าแหล่งผลิตกล้วยหอมทองอยู่บริเวณไหนของประเทศไทย เพราะสภาพพื้นที่โดยรวมสามารถเพาะปลูกกล้วยต่าง ๆ ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า, กล้วยไข่ และกล้วยหอม
แต่สำหรับกล้วยหอมทองที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น แหล่งเพาะปลูกสำคัญกลับอยู่ที่ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรใน อ.บ้านลาด ที่ในอดีตต่างประกอบอาชีพทำนา และทำการเกษตรอื่น ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
เนื่องจากถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ
เกษตรกรเหล่านี้จึงรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี ขึ้นครั้งแรกในปี 2483 เพียงแต่ตอนนั้น การจัดตั้งสหกรณ์ยังไม่มีการจดทะเบียน และยังมีอุปสรรคในการดำเนินงานหาทุนหลายอย่าง จึงทำให้มีความคืบหน้าน้อยมาก กระทั่งในปี 2518 มีการจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี ขึ้นอย่างเป็นทางการในปีเดียวกัน สหกรณ์การเกษตรบ้านลาดได้รับโล่รางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประเภทสหกรณ์การเกษตรดีเด่น โดยยึดหลักความต้องการของสมาชิกเป็นสำคัญ ทั้งยังมุ่งเน้นให้สมาชิกเกิดความพึงพอใจในการดำเนินการ
เพียงแต่ระยะเบื้องต้นแนวทางการทำการเกษตรอาจมีความหลากหลาย เนื่องจากพวกเขาเคยชินต่อการทำนา, ทำตาลโตนด, เลี้ยงวัว, ปลูกกล้วยน้ำว้า, มะนาว, เพาะเห็ดฟาง และอื่น ๆ
โดยมีเกษตรกรส่วนน้อยที่ปลูกกล้วยหอมทอง
จนปี 2539 "บรรเจิด สมหวัง" อดีตผู้ตรวจราชการสหกรณ์ เขต 8 ขณะนั้นชักชวน "ยามา โมโต้" ประธานกรรมการบริษัท แพนแปซิฟิคฟู้ด คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากสำนักงานใหญ่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นมาเยี่ยมสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด พร้อมกับมีการเจรจานำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศไทย โดยเฉพาะกล้วยหอมทอง เพราะทางประเทศของเขามีความต้องการอย่างมากทั้งยังเห็นว่า จ.เพชรบุรีเป็นแหล่งผลิตกล้วยหอมทองที่ดีมาก ทั้งรสชาติ และความหอม จึงอยากให้สหกรณ์การเกษตรบ้านลาดดำเนินการด้านการผลิตกล้วยหอมทองให้แก่ญี่ปุ่น ปรากฏว่าทางสหกรณ์ฯ ตอบรับ และพร้อมดำเนินการ ทั้งยังมีการส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมทองเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเป็นอาชีพเสริมให้กับสมาชิกของสหกรณ์
ที่สุดจึงมีการรวบรวมกล้วยหอมทองส่งยังญี่ปุ่นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2539 จำนวน 6 ตัน / สัปดาห์
ต่อมาราวเดือนกรกฎาคม 2542 "ยามา โมโต้" นำคณะกรรมการ 2 นาย จากชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภคชุโตเคน ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภค Palsystem มาแวะเยี่ยมสหกรณ์อีกครั้ง โดยทางชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภคชุโตเคนตกลงรับซื้อกล้วยหอมทองจากสหกรณ์ฯโดยตรง พวกเขาจึงดำเนินการส่งกล้วยหอมทองให้กับชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภคชุโตเคนทุก ๆ สัปดาห์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 8 ตัน
จากนั้นอีก 1 ปีคือในวันที่ 9 กรกฎาคม 2543 สหกรณ์การเกษตรบ้านลาดกับชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภคชุโตเคน (Palsystem) จัดทำพิธีลงนามแถลงการณ์ร่วมกันทั้ง 2 สองฝ่าย โดยมีสาระสำคัญในการยึดหลักการเคารพสิทธิของแต่ละฝ่าย และการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อมิตรสัมพันธ์ตลอดไป
จนปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี สามารถส่งออกกล้วยหอมทองให้กับชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภคชุโตเคน (Palsystem) มากกว่าสัปดาห์ละ 8 ตันแล้ว
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ "ศิริชัย จันทร์นาค" ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี บอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยกว่าจะมาถึงวันนี้ เพราะการส่งออกกล้วยหอมทองไปญี่ปุ่นต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสินค้าอย่างเข้มข้น ฉะนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำเกษตรอินทรีย์ โดยไม่มีการใช้สารเคมีตั้งแต่การเพาะปลูก
"พูดง่าย ๆ เราดำเนินการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงทุกอย่าง และเราก็น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์มาปรับใช้ด้วย อย่างตอนแรกที่เราเริ่มปลูกกล้วยหอมทองมีเกษตรกรเพียงไม่กี่กลุ่ม กลุ่มละ 10 - 20 คน แต่หลังจากกลุ่มแรก ๆ ส่งกล้วยหอมทองไปญี่ปุ่ประสบความสำเร็จ กลุ่มอื่น ๆ ที่เห็นก็อยากที่จะปลูกบ้าง จนทุกวันนี้เรามีเกษตรกรทั้งหมด 82 กลุ่มที่ปลูกกล้วยหอมทองส่งออก"
"เพราะ 1 ไร่ จะลงทุนประมาณ 2 หมื่นบาท สามารถปลูกกล้วยหอมทองได้ทั้งหมด 400 หน่อ /ไร่ แต่ขายผลผลิตได้ประมาณ 80,000 บาท /ไร่ ถือว่ามีรายได้ค่อนข้างดี และทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ซึ่งผ่านมาเราส่งกล้วยหอมทองภายในกลุ่มของเราไปญี่ปุ่น 100% แต่ตอนหลังจึงมาประชุมร่วมกันว่าเราน่าจะส่งขายภายในประเทศบ้าง เพื่อให้คนไทยมีโอกาสกินกล้วยหอมทอง"
"จนที่สุดจึงติดต่อกับ 7-11 เพื่อขอนำกล้วยหอมทองจากสหกรณ์การเกษตรบ้านลาดเข้าไปวางจำหน่ายในสาขาทั้งหมดที่มีมากกว่า 8,000 - 9,000 สาขาทั่วประเทศ จนทำให้ยอดการส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นหลือเพียง 90% และ 10% วางจำหน่ายภายในร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์"
"ศิริชัย" บอกว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากองค์ความรู้ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ที่ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยให้ความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องของชุมชนพึ่งตนเอง เพื่อเดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกส่วนหนึ่งได้วิชาการทางด้านการเกษตรจากเกษตรตำบล อำเภอ และจังหวัด รวมถึงการเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เราเข้าไปศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริในที่ต่าง ๆ นอกจากนั้น ก็เป็นองค์ความรู้การปลูกกล้วยหอมทองให้ได้คุณภาพจากเกษตรกรชาวญี่ปุ่น
"เพราะเป้าหมายที่เราต้องการจริง ๆ คือการสร้างเกษตรกรให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน หรือเป็นเกษตรกรตัวอย่างในการเป็น Smart Farmer เพราะถ้าเราสามารถสร้างเกษตรกรให้มีความรู้ขนาดนั้นได้ เขาจะได้นำองค์ความรู้ที่มีไปต่อยอด และให้ความรู้แก่เกษตรกรในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป เสมือนเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน เหมือนอย่างทุกวันนี้เกษตรกรของเราไปช่วยในพื้นที่ต่าง ๆ บ้าง แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะทุกคนอยากประสบความสำเร็จ แต่การจะประสบความสำเร็จได้ต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง"
"ตอนนี้กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกกล้วยหอมทองที่ อ.บ้านลาดถูกรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น จนมีชื่อเสียงในต่างประเทศ และภายในประเทศ กระทั่งมีเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ อยากเป็นเหมือนเราบ้าง ซึ่งเราก็ไม่ว่าอะไร พร้อมสนับสนุนด้วยซ้ำ แต่อย่างว่าการปลูกกล้วยหอมทองแต่ละพื้นที่คุณภาพที่ได้อาจมีความแตกต่างกัน เพราะกล้วยหอมทองชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 25-35 องศา และที่บ้านลาดอุณหภูมิเหมาะสมต่อการปลูกกล้วยหอมทองอย่างมาก"
"ซึ่งเหมือนกับทางภาคใต้ เขาปลูกกล้วยหอมทองเหมือนกัน แต่ผลผลิตที่ได้กลับแตกต่าง ของเขาเปลือกจะหนา และผลจะใหญ่คล้ายกับกล้วยฟิลิปปินส์ และไม่หอมเหมือนกล้วยหอมทองบ้านลาด อีกอย่างอาจอยู่ที่แหล่งน้ำด้วย ที่ทำให้คุณภาพ รสชาติของกล้วยมีความแตกต่างกัน"
ถึงตรงนี้ จึงอดถาม "ศิริชัย" ไม่ได้ว่าเพราะเหตุใด ? ทำไม ? กล้วยหอมทองจึงไปมีชื่อเสียงที่ประเทศญี่ปุ่น เขาจึงตอบให้ฟังว่าญี่ปุ่นเขาจะมีการจัดงานเทศกาลผลไม้นานาชาติทุกปี ผู้คนจากทั่วโลกจะนำผลไม้ประจำชาติของตัวเองมาร่วมออกงาน ส่วนของประเทศไทยเองก็มีผลไม้หลายชนิดมาร่วมงาน แต่เรานำกล้วยหอมทองจากบ้านลาดไปร่วมออกงาน
"ภายในงานจะมีบริการให้ทุกคนลองชิมกล้วยหอมจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีกล้วยหอมจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมงาน อาทิ แอฟริกา, เอกวาดอร์, สาธารณรัฐโดมินิกัน, ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย พอชิมเสร็จแล้ว เขาจะให้คนเหล่านั้นเขียนใบโหวตลงกล่องว่ากล้วยหอมจากประเทศไหนอร่อยที่สุด ปรากฏว่าของเราได้ที่ 1 ตรงนี้จึงกลายเป็นตัวชี้วัดว่ากล้วยหอมทองของเราอร่อยกว่าใคร ๆ รู้สึกตอนนั้นจะประมาณปี 2557"
ผ่านมาเพียง 3 ปี
แต่เป็น 3 ปีที่ทำให้สมาชิกภายในสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งยังทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นด้วย ที่สำคัญ ยังทำให้มีเงินหมุนเวียนภายในสหกรณ์มากขึ้นตามมาด้วยแต่กระนั้น "ศิริชัย" ยังเป็นห่วงว่าในการบริหารจัดการสมาชิกภายในกลุ่มให้อยู่กันได้อย่างยั่งยืน จะต้องสร้างตัวตายตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมา เพราะสมาชิกในปัจจุบันอายุล่วงเข้ามัชฌิมวัย และปัจฉิมวัยกันเกือบหมดแล้ว ดังนั้น หากไม่มีการสร้างทายาทขึ้นมาทดแทน อาจทำให้เกิดการขาดแคลนเกษตรกรได้
"ผมจึงประชุมร่วมกับสมาชิกทุกคนเพื่อจัดทำโครงการทายาทเกษตรรุ่นใหม่ขึ้นมา เริ่มต้นจากลูกหลานภายในกลุ่มก่อน อายุตั้งแต่ 18-30 ปี โดยให้พวกเขาเขียนโครงการเข้ามานำเสนอว่าถ้าเขาจะทำการเกษตรเขาจะปลูกอะไร โดยทางกลุ่มจะให้เงินทุนเริ่มต้น 1 แสนบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย ตอนนี้เราทำไปทั้งหมด 3 รุ่นแล้ว ปรากฏว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีมาก"
"เพราะเราเห็นว่าลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเขา พอเรียนหนังสือสูง ๆ จะไปทำงานในเมืองกันหมด ไม่ค่อยมีใครอยากทำเกษตรกร เราจึงพยายามปลูกฝังพวกเขาตรงนี้ และพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้เขาเห็นว่าที่พวกคุณประสบความสำเร็จ เรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท ล้วนมาจากเงิของพ่อแม่ที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น อีกอย่างพ่อแม่พวกคุณก็เริ่มแก่ชรามากแล้ว ถ้าคุณมาทำการเกษตร ก็จะได้มาดูแลพวกเขายามเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย"
"ยิ่งเดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่หลายคนเริ่มหันมาเป็นเกษตรกรกันมาก แต่เรามีที่ดิน มีสวน มีไร่อยู่แล้ว น่าจะมาทำอาชีพเสริมตรงนี้อีกทาง ซึ่งหลายคนเห็นด้วย เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าปัจจุบันกลุ่มสหกรณ์เกษตรกรบ้านลาดมีชื่อเสียงขจรขจายไปไกล และ
เขาเองก็เป็นลูกหลานของที่นี่ น่าจะต่อยอดจากสิ่งที่พ่อแม่ทำมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยใช้ความชำนาญทางเทคโนโลยีที่เขามีมาเป็น Smart Farmer ในที่สุด"
การทำอย่างนี้ไม่เพียงเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เกิดแรงบันดาลใจ หากยังเป็นการสอนให้พวกเขากลับยังถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเอง เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุข
ทั้งยังเป็นความสุขที่เกิดจากการสร้างภายในของตัวเอง
จนทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต
อ่านกันเสร็จแล้ว มีไฟในการทำกล้วยหอมทองเลยครับ
บทความข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ