แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทความงาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทความงาน แสดงบทความทั้งหมด

30 อาชีพรายได้ดี ที่ใครหลายคนต้องอิจฉา มีลูกมีหลานส่งไปเรียนกันเลย

อาชีพรายได้ดีไม่ต้องนั่งอยู่กับที่ในออฟฟิศก็มีเหมือนกัน งานเหล่านี้ก็เลยคว้าอันดับรายได้เยอะไปครอง อ่านแล้วก็ได้แต่อิจฉาเบา ๆ

สู้อุตส่าห์เรียนมาตั้งหลายปีพอจบออกมาก็คงอยากได้งานดี มีรายได้สูง และหากจะมีออปชั่นเสริมอย่างได้ออกนอกสถานที่ ไม่จำเป็นต้องนั่งประจำอยู่ที่ออฟฟิศด้วยน่าจะเริดมาก ทว่าในความเป็นจริงหลายคนก็ประท้วงเบา ๆ ว่างานแบบนี้หายากเย็นจะตายไป เอ้า ! ไปโดนใครเขาหลอกมากันล่ะ ดูอย่าง 30 งานที่ Business Insider แนะนำมาสิ ทั้งรายได้ดีเว่อร์ ๆ แล้วยังไม่ต้องนั่งจับเจ่าอยู่กับโต๊ะอีกด้วย แต่ช่างน่าเสียดายเพราะบางอาชีพก็ไม่ได้ทำเงินในเมืองไทยสักเท่าไรหรอกนะ

1. งานกายอุปกรณ์ (Orthotists and Prosthetists)

บุคลากรด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ผู้ทำหน้าที่ออกแบบ วัดขนาด รวมไปถึงทุกขั้นตอนของการผลิต ดัดแปลงและซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้กับร่างกายเพื่อช่วยเหลือการเคลื่อนไหว เช่น แขนเทียม ขาเทียม อุปกรณ์ประคองหรือดามหลัง อุปกรณ์ดามมือ และอวัยวะเทียมเกือบทุกชนิด หน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยแบบนี้แน่นอนว่ารายได้ดีงามทีเดียวเชียวล่ะ โดยค่าจ้างของอาชีพนี้ตกชั่วโมงละ 30.27 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ราว ๆ 980 บาทต่อชั่วโมง กดเครื่องคิดเลขอีกนิดก็จะรู้เลยว่าเป็นอาชีพที่ทำเงินประมาณ​ 235,200 บาทต่อเดือนแน่ะ !


2. ช่างไฟฟ้า

อาชีพนี้ไม่เพียงแต่มีรายได้ดี ทว่าสวัสดิการต่าง ๆ ก็ครบถ้วนอีกต่างหาก ส่วนขอบเขตของงานจะทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับไฟฟ้า เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนติดตั้ง บำรุง ซ่อมแซม ดูแลระบบจ่ายไฟ ข้องเกี่ยวกับเคเบิลและระบบไฟหลายชนิด ค่าแรงต่อชั่วโมงอยู่ที่ 30.85 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,000 บาท) ประเมินแล้วเงินเดือนบวกกับค่าความเสี่ยงก็ 2 แสนกว่าบาทต่อเดือนเหมือนกัน

3. ไคโรแพรกติก (Chiropractic)

อีกหนึ่งอาชีพทางสายการแพทย์ที่จำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์พอสมควรสำหรับการจัดกระดูก รวมไปถึงระบบกล้ามเนื้อที่ผิดปกติให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบกระดูก กล้ามเนื้อและข้อ อ้อ ! ลืมบอกไปว่าศาสตร์การรักษานี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือการผ่าตัดใด ๆ ทั้งสิ้น งานนี้อาศัยมือของผู้เชี่ยวชาญล้วน ๆ ดังนั้นตัวเลขของเงินเดือนที่ควรได้จึงสูงถึงประมาณ 243,840 บาทต่อเดือน นับเป็นอาชีพที่สร้างรายได้มหาศาลแต่ก็สมน้ำสมเนื้อกับความรู้ความสามารถนะ คะ

4. ผู้ตรวจการขนส่ง

เป็นอีกหนึ่งอาชีพในส่วนงานราชการที่มีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการขนส่งของผู้ประกอบการส่วนต่าง ๆ ด้วยเหตุผลที่ต้องการป้องกันปัญหาทุจริตคอรัปชั่น อาชีพนี้เลยได้เงินเดือนเหนาะ ๆ อยู่ที่ 246,240 บาทต่อเดือน


5. นักรังสีเทคนิค

กว่าจะเรียนจนจบมาได้คงยากลำบากพอดู นักรังสีเทคนิคเลยสมควรแก่การได้ค่าจ้าง 246,720 บาทต่อเดือน แต่ด้วยความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาแล้วต้องยกให้เขาเลยจริง ๆ

6. แพทย์เฉพาะทางรังสี

แพทย์เฉพาะทางผู้มีความรู้ความสามารถทางเทคนิคการแพทย์ รวมไปถึงเครื่องฉายแสงต่าง ๆ สามารถวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคด้วยเทคโนโลยีรังสีอย่างนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ ส่วนอัตราเงินเดือนของอาชีพนี้ก็สูงถึง 248,160 บาทต่อเดือน แถมแว่ว ๆ มาว่าไม่จำเป็นต้องสแตนบายด์ที่โรงพยาบาลตลอดเวลาอีกต่างหาก

7. ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์

ทั้งโปรดิวเซอร์และผู้กำกับละครทีวี ละครเวที และภาพยนตร์ต่างก็มีรายได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากละครหรือภาพยนตร์มีกระแสตอบรับแรง ๆ คนดูกันทั้งประเทศและดังไกลไปถึงเมืองนอก แบบนี้บอกเลยว่ารายได้ต่อเดือนไม่น่าจะต่ำกว่า 250,000 บาทต่อเดือน แถมยังไม่ต้องตอกบัตรเข้างาน ไม่จำเป็นต้องไปทำงานทุกวัน ทว่าเวลามีงานจริง ๆ ก็หามรุ่งหามค่ำเหมือนกัน

8. วิศวกรรมต่อเรือและเครื่องกลเรือ

ดูแลรับผิดชอบระบบเดินเรือและเครื่องกลเรือทุกชิ้นส่วน จำเป็นต้องพกความรู้ความเรื่องโครงสร้างเรือ ระบบการทำงานของเรือแต่ละประเภท รวมไปถึงระบบสุขาภิบาล ไฟฟ้า และระบบอื่น ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของเรือด้วย ส่วนอัตราค่าจ้างของอาชีพนี้จะอยู่ที่ประมาณ 260,000 บาทต่อเดือน


9. กัปตันเรือ

อาชีพเกี่ยวกับการเดินเรือนี่เงินเดือนไม่ใช่ย่อย ๆ เลยล่ะ อย่างเหล่ากัปตันและผู้ช่วยกัปตันเรือก็มีรายได้กว่า 1,088 บาทต่อชั่วโมง คิดเป็นเงินเดือนก็ประมาณ 260,000 บาทกว่า ๆ เท่านั้นเอง

10. เกษตรกร

เจ้าของไร่ นา สวน หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม ถ้าทำอย่างจริงจังก็รวยใช่เล่นนะ เบาะ ๆ รายได้ต่อเดือนจะอยู่ที่เกือบ 260,000 บาทเลยทีเดียว

11. นักพยาธิวิทยาด้านการพูดและภาษา (Speech-Language Pathologist)

อาจเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไร แต่บอกไว้เลยว่าการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางการสื่อสาร ทำรายได้ต่อเดือนให้นักพยาธิวิทยาด้านการพูดและภาษากว่า 265,000 บาท

12. นักทันตสุขอนามัย (Dental hygienist)

นักทันตสุขอนามัยจะประจำอยู่ตามสาธารณสุขในแต่ละจังหวัด เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยภายในช่องปาก รวมถึงมีความรู้ในการป้องกันโรคทางช่องปากและรักษาความสะอาดของฟันขั้นพื้นฐานได้ อาชีพนี้ในเมืองนอกสามารถทำเงินได้เกิน 265,000 บาทต่อเดือนเชียวนะ

13. นักโสตสัมผัสวิทยา

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอนามัยภายในช่องหูและประสาทการได้ยินของมนุษย์อย่างครอบคลุม ถ้าประกอบอาชีพนี้ในเมืองนอก การันตีรายได้ไม่ต่ำกว่า 267,000 บาทต่อเดือน ถือเป็นอาชีพที่ทำเงินดี๊ดีอีกอาชีพหนึ่งเลย

14. นักอาชีวบำบัด

อาชีพที่คล้าย ๆ นักจิตวิทยาสาขาหนึ่งซึ่งมีหน้าที่บำบัดผู้ป่วยที่มีการพัฒนาค่อนข้างช้า จนเกิดความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกิจกรรมพื้นฐานรอบตัว เช่น การทำงานบ้าน การประกอบอาชีพ หรือฟื้นฟูทักษะการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมือนคนปกติ ภารกิจใหญ่ยิ่งขนาดนี้ก็เก็บเงินเข้ากระเป๋าไปเลยเหนาะ ๆ เดือนละ 287,000 บาท

15. ช่างติดตั้งและซ่อมบำรุงลิฟต์

รับผิดชอบตั้งแต่การตรวจสอบโครงสร้างลิฟต์ การผลิต ระบบการทำงาน ไปจนถึงการติดตั้งและซ่อมแซมลิฟต์โดยสาร อาชีพนี้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมาก ๆ โดยเรตค่าจ้างในต่างประเทศจะสูงถึงชั่วโมงละ 37.81 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ1,224 บาท) คิดเป็นเงินเดือนก็เกือบ 300,000 เลยนะ

16. นักรังสีการแพทย์

ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาสามารถบรรเทาและรักษาอาการของโรคด้วยการฉายรังสี คนที่จะประกอบอาชีพนี้ได้ต้องเรียนหนักไม่แพ้แพทย์ พ่วงกับความรู้ด้านรังสีวิทยาที่ควรต้องแม่นเป๊ะ สนนรายได้ต่อเดือนจึงทะยานไปไกลถึง 295,000 บาท



17. นักกายภาพบำบัด

ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระมนุษย์ สามารถวิเคราะห์ความผิดปกติและวางแผนการรักษาอาการผิดปกตินั้นโดยใช้ความรู้ พื้นฐานทางกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจำเป็นต้องแข็งแรงพอสมควรนะคะ เพราะต้องคอยจัดท่ารวมถึงพยุงคนไข้ในระหว่างการทำกายภาพบำบัด ถือเป็นงานที่หนักไม่น้อยเลยทีเดียว เงินเดือนก็เลยต้องสมน้ำสมเนื้อ โดยนักกายภาพบำบัดต่างประเทศจะได้เรตค่าจ้างชั่วโมงละ 38.96 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ตกชั่วโมงละประมาณ 1,261 บาท เท่ากับว่ากวาดรายได้เข้ากระเป๋าเดือนละ 3 แสนกว่าบาทเลย


18. สัตวแพทย์

ความยากของอาชีพนี้อยู่ที่การวินิจฉัยโรคที่สัตว์เป็น เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้เลยแม้แต่คำเดียว อีกทั้งยังต้องเก๋าพอที่จะรักษาสัตว์ได้ทุกชนิดบนโลกใบนี้ เงินเดือนเลยปาเข้าไปกว่า 323,000 บาทต่อเดือน

19. เจ้าหน้าที่ทำคลอดทารก

ใครจะประกอบอาชีพนี้ได้ต้องมีความรู้เรื่องสูติแน่นปึ้ก ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับขั้นตอนการทำคลอดเด็กทารก เพื่อให้การคลอดเป็นไปอย่างปลอดภัยทั้งแม่และลูก ซึ่งบ้านเราส่วนใหญ่จะอาศัยแพทย์สูติและพยาบาลผู้มีประสบการณ์ในการทำคลอดแทน แหม...น่าเสียดายไม่เบานะคะ เพราะเจ้าหน้าที่ทำคลอดในต่างประเทศเก็บรายได้รายต่อชั่วโมงถึง 44.37 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,436 บาท) เลยทีเดียว ตกเดือนละเกือบ 350,000 บาท

20. พยาบาลเวชปฏิบัติ

ด้วยหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องทำทุกอย่างให้ได้เกือบเทียบเท่าแพทย์ ความรู้ความสามารถจึงต้องอยู่ในระดับดี เงินเดือนเลยค่อนข้างคุ้มค่าในระดับประมาณ 346,000 บาทต่อเดือน

21. ผู้ช่วยทางการแพทย์

อีกหนึ่งอาชีพที่ต้องทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ลักษณะของงานจะคล้าย ๆ เลขาของแพทย์ ซึ่งต้องจัดเตรียมข้อมูลของคนไข้เพื่อส่งเคสต่อให้แพทย์ได้ และอาจต้องให้คำปรึกษาและคัดกรองคนไข้ก่อนถึงมือหมอ โดยในต่างประเทศตำแหน่งนี้จะค่อนข้างมีตัวตนที่ชัดเจนมากกว่าบ้านเรา แถมเงินเดือนยังดี๊ดีที่ 44.70 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,447 บาทต่อชั่วโมง คิดเป็นเงินเดือนแล้วก็ประมาณ 350,000 บาท

22. ผู้เชี่ยวชาญในการวัดสายตาและประกอบแว่น

งานที่เกี่ยวกับสายตาจำถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญและค่อนข้างมีละเอียดอ่อน ซึ่งก็แน่นอนว่าผู้เชี่ยวชาญในการวัดสายตาและประกอบแว่นต้องผ่านการร่ำเรียนที่หนักหนาสาหัสเอาการ ค่าตอบแทนจึงต้องสูงเป็นธรรมดา โดยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนจะตกประมาณ 378,480 บาท


23. นักบิน ผู้ช่วยนักบิน พนักงานสายการบิน และวิศวกรการบิน

สายอาชีพที่มีสถานที่ทำงานบนผืนฟ้าเป็นส่วนใหญ่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะและความรู้ความสามารถที่คนทั่วไปไม่อาจทำได้ การันตีรายได้แบบไม่ต้องสงสัยตกเดือนละกว่า 430,000 บาท

24. ทันตแพทย์

แค่ถอนฝันไม่กี่ซี่เราก็ต้องควักเงินในกระเป๋าไปหลายร้อย ยังไม่นับรวมทันตกรรมชนิดอื่น ๆ อีก ดังนั้นทันตแพทย์ที่ทำงานทั้งในโรงพยาบาลและเปิดคลีนิกเป็นของตัวเองด้วย มีรายได้ชัวร์ ๆ ไม่ต่ำกว่าหลักแสน อย่างทันตแพทย์ของต่างประเทศจะการันตีรายได้อยู่ที่ 70.36 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,278 บาทต่อชั่วโมง กดเครื่องคิดเลขดูตกเดือนละ 546,000 เลยทีเดียว

25. พยาบาลวิสัญญี

พยาบาลวิสัญญีถือเป็นวิชาการพยาบาลขั้นสูง ซึ่งต้องมีความรู้ในเรื่องยาระงับความรู้สึก รวมทั้งต้องประเมินปริมาณการให้ยาสลบกับคนไข้ได้อย่างแม่นยำพอสมควร ไม่อย่างนั้นกะผิดกะถูกไปคนไข้ตื่นขึ้นมาระหว่างการผ่าตัดล่ะวุ่นแน่ ดังนั้นตำแหน่งสำคัญทางการแพทย์อย่างนี้รัฐบาลสหรัฐฯ จึงยอมจ่ายค่าแรงให้ชั่วโมงละ 72.64 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณชั่วโมงละ​ 2,352 บาท ต่อเดือนประมาณ 564,000 บาท

26. จิตแพทย์

ผู้ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทุกรูปแบบแล้วแต่คนไข้แต่ละเคส และทำการรักษาปัญหาทางจิตและความคิดของคนไข้ภายใต้วิธีการทางจิตวิทยา ถือว่าเป็นงานที่ไม่ต้องลงแรงเท่าไร แต่ในฐานะที่ต้องทนรับฟังแต่ปัญหาของผู้อื่นรายได้จึงงามมาก คิดแล้วตกอยู่ชั่วโมงละ 86.03 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเป็นเงินไทยก็ราว ๆ 2,786 บาท หรือเดือนละ 668,000 บาท



27. ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดฟัน

ในวงการทันตแพทย์ศาสตร์ต้องยอมรับว่า ทันตแพทย์สาขาการจัดฟันแอบทำรายได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ยิ่งในช่วงนี้กระแสจัดฟันยังแรงไม่แผ่วสักนิด รายได้ของหมอฟันสาขานี้จึงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในอเมริกาเรตรายได้ของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดฟันจะสูงถึง ชั่วโมงละ 90 ดอลลาร์สหรัฐ ตกเกือบ 3,000 บาทต่อชั่วโมง คิดเป็นเงินก็แค่เดือนละ 720,000 เท่านั้นเอง !!

28. ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านโรคข้อต่อขากรรไกร

หน้าที่ของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อต่อขากรรไกรจะดูแลทุกอย่างที่เกี่ยวกับความผิดปกติของขากรรไกร สามารถวินิจฉัยและผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรได้ โดยส่วนมากรายได้จะเทียบเท่ากับทันตแพทย์สาขาจัดฟัน คือ ชั่วโมงละ 90 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000 บาทต่อชั่วโมง หรือเดือนละ 720,000 บาท

29. แพทย์ผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อทำการรักษาโรคดูเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตของคนเรา ฉะนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จำเป็นต้องพกพาความรู้ความสามารถที่เปี่ยมไป ด้วยศักยภาพมาช่วยชีวิตคน รายได้จากอาชีพนี้จึงค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่เรต 91.66 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง อยู่ในไทยก็คงได้ค่าวิชาชีพประมาณ 2,968 บาท ตกเดือนละ 720,000 บาท เช่นกัน

30. วิสัญญีแพทย์

ขนาดพยาบาลวิสัญญียังมีรายได้สูงพอสมควร แล้วนี่เป็นถึงแพทย์วิสัญญีผู้เชี่ยวชาญด้านยาสลบซึ่งต้องจ่ายยาสลบให้แก่คนไข้ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด เทียบกับหน้าที่และความสามารถแล้วก็ต้องยอมให้ค่าวิชาไปเลยที่ 92.41 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยจะประมาณ 2,992 บาทต่อชั่วโมง คำนวนเป็นรายเดือนแล้วบอกเลยว่าอิจฉาตาร้อนมาก ก็เงินเดือนของอาชีพนี้การันตีไม่ต่ำกว่า 7 แสนบาท ! เลยนะเอ้า

ไม่ต้องแปลกใจถ้าบางอาชีพจะมีรายได้สูงมาก แอบกระซิบไว้หน่อยว่านี่เป็นอัตราค่าจ้างฉบับเมืองนอก เห็นแล้วอยากให้ประเทศไทยอัดฉีดค่าแรงแน่น ๆ แบบนี้บ้างจังเลย

จบ ป.5 ครึ่ง เลี้ยงผึ้งโกยเงินล้าน หนานชาญ ฟาร์มผึ้ง

ขอขอบคุณที่มาจากกรุงเทพธุรกิจ





เศรษฐี ป.5 ครึ่ง เลี้ยงผึ้งรายได้เดือนละ 2 แสนบาท ชี้ “งานยาก ได้เงินมาก งานง่าย ได้เงินน้อย” ต้องอดทนขยันจึงจะประสบความสำเร็จ

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่บ้านห้วยเกี๋ยง ต.ห้วยยางขาม อ.จุน จ.พะเยา เพื่อไปพบนายโรจน์ศักดิ์ ถาวร หรือลุงหนานชาญ อายุ 66ปี เจ้าของฟาร์มผึ้งเงินล้าน “หนานชาญ ฟาร์มผึ้ง” ที่สร้างตัวเองมาจากผึ้งเพียงรังเดียว จนมีฐานะอยู่ในขั้นผู้มีอันจะกินของ ต.ห้วยยางขาม

หนานชาญ กล่าวว่า ตนเองสมัยเด็กมีฐานะยากจน ทำให้มีโอกาสเรียนเพียงแค่ชั้น ป.5ครึ่ง คือเรียนป.6 ได้ครึ่งเทอมก็ต้องลาออก เพราะไม่มีเงินเรียนต่อ จากนั้นก็หางานทำสารพัดที่เป็นเงินทำหมด จนกระทั่งเรียนรู้เรื่องช่าง และผันตัวเป็นผู้รับเหม่าก่อสร้างแต่ก็ถูกพิษต้มยำกุ้งปี 2540 จนสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องอาศัยเถียงนาของเพื่อนแทนบ้านและทำเกษตรเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นรายได้ประทังชีวิต

กระทั่งปี 2546 เพื่อนไปอบรมเรื่องการเพาะเลี้ยงผึ้งและได้รังผึ้งมาประมาณ 10 ลัง จึงยืมลังผึ้งของเพื่อนมา 1 ลังมาลองเลี้ยงดู ซึ่งได้ผลดีมาก จากนั้นก็ขยายขึ้นเป็น 4 ลัง ในเวลา 1 ปี สามารถขายน้ำผึ้งได้ถึง 20,000 บาท ซึ่งก็หมายความว่าผึ้ง 1 ลัง ใน 1 ปีให้น้ำผึงประมาณ 50 กก. ราคาขายกก.ละ 100 บาท จึงเกิดความคิดว่าถ้าเราเพิ่มจำนวนลังผึ้งไปเรื่อยๆ เป็น 100 และ 200 ลัง รายได้ต่อปีคงจะมากมายกว่าราคาพืชผลทางการเกษตรอื่นแน่นอน จึงเริ่มเพิ่มจำนวนลังผึ้งขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีรังผึ้งที่ให้ผลผลิตตลอดปีกว่า 600 ลัง ซึ่งก็หมายความว่าในหนึ่งปีจะมีรายได้จากการขายน้ำผึ้งถึงกว่า 3,000,000 บาท หรือมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 250,000 บาท วันละ 8,220 บาท เลยทีเดียว

สำหรับการเก็บน้ำผึ้งจะทำอยู่ 3 รอบ หรือ 3 ครั้ง ในช่วงคือช่วงที่ดอกขี้ไก่ย่าน หรือดอกขี้เหล็กย่านผลิดอก ดอกหญ้าสาปเสือผลิดอกและดอกลำไยผลิดอก ซึ่งผึ้งจะหากินน้ำหวานจากเกสรดอกหล่านี้และจะเป็นน้ำผึ้งคุณภาพ มีกลิ่นหอม รสชาติหวานลิ้น มีสรรพคุณทางยาครบถ้วน เป็นที่ต้องการของตลาดและราคาไม่ตก

“ที่ผมพึ่งแสดงตัวว่าการเพาะเลี้ยงผึ้งสามารถสร้างเงิน สร้างฐานะและอยู่กับครอบครัวได้ เพราะผมมั่นใจเวลา 14 ปีที่ผมทำมามันทำได้จริงไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย เมื่อผมมั่นใจในสิ่งที่ผมทำผมจึงอยากมาบอกให้ชาวบ้านรู้ เขาจะได้ไม่ลำบากไปเริ่มเรียนรู้หรือลองผิดลองถูกเอง เพียงแต่ต้องใส่ใจ ขยันและอดทนเท่านั้น งานยาก ได้เงินมาก งานง่าย ได้เงินน้อย ผมคิดแบบนี้นะ" หนานชาญ กล่าว

ปัจจุบันลุงหนานชาญ มีฐานะอยู่ในขั้นมีอันจะกินในตำบลห้วยยางขาม มีฟาร์มเลี้ยงผึ้ง มีโรงสี บ้าน ที่ดิน สวน มีปัจจัย 4 ครบ จึงอยากนำความรู้และประสบการณ์การเลี้ยงผึ้งมาช่วยสอนชาวบ้านที่ต้องการทางเลือกในการหารายได้พิเศษจากหน้าที่ประจำ หรือจะทำเป็นอาชีพประจำ เพื่อสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่น ไม่ต้องลำบากเหมือนตนเองในสมัยก่อน ยินดีจะให้คำปรึกษา หรือมาศึกษาดูงานของนักเรียน นักศึกษาหรือผู้ที่สนใจฟรียินดีจะถ่ายทอดให้ทั้งหมดเพื่อเป็นวิทยาทาน

สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 08-2571-1026 หรือที่บ้านเลขที่ 157 บ้านห้วยเกี๋ยง ต.ห้วยยางขาม อ.จุน จ.พะเยา หรือท่านใดต้องการที่จะอบรมเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพจริงๆ จะมีการอบรมครั้งแรกในที่ 20 สิงหาคม 2560 นี้

"อาชีพดมกลิ่น" ขึ้นทะเบียนรับรอง 167 คนแล้ว ค่าตอบแทนครั้งล่ะ 600 บาท

เพราะปัญหาร้องเรียนมลพิษที่เกิดจากโรงงานเกิดจากความเหม็นอย่างมาก ซึ่งเป็นปัญหาระดับต้นๆของโรงงานทุกที่ ทำให้กรมควบคุมมลพิษไม่นิ่งเฉย จึงได้ "กำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ" และวิธีที่ใช้กำหนด คือ การดมกลิ่น นั้นเอง และได้ผลตอบแทนต่อครั้งถึง 600 บาท ซึ่งการจะเป็นผู้ดมกลิ่นนั้นไม่ใช่เรื่อง่ายเลย ต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานที่คพ.กำหนดเอาไว้ อายุ 18-60 ปี มีอายุการทำงาน 1 ปี แถมต้องมีสุขภาพแข็งแรงด้วยเสียด้วย 




วันที่ 16 มิถุนายน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาร้องเรียนเรื่องมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 60 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ซึ่งปัญหากลิ่นเหม็นจัดเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนเป็นลำดับแรกมาตลอดทุกปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของปัญหาที่มีการร้องเรียนทุกด้าน จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของประกาศ ทส.เรื่อง “กำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2553 บังคับใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 23 ประเภท โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีการใช้สารเคมีอันตราย ในการผลิต เนื่องจากวิธีตรวจวัดตามประกาศฯ กำหนดให้ใช้วิธีการดมกลิ่น (Sensory test) จมูกของคนดมเพื่อตรวจวิเคราะห์กลิ่น (Panelist) ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่ดมกลิ่นจะต้องผ่านการทดสอบและขึ้นทะเบียนผู้ดมกลิ่นจากคพ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เรื่อง วิธีตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นโดยการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม (Sensory test) และการขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ทดสอบกลิ่นของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2554
นายจตุพร กล่าวว่า โดยล่าสุด คพ. ได้จัดให้มีการทดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดมกลิ่น โดยมีผู้ผ่านและการทดสอบตามประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง บัญชีรายชื่อผู้ทดสอบกลิ่นของคพ.(ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 จำนวนทั้งสิ้น 167 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่คพ. 100 คน กรมทรัพยากรน้ำ 2 คน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 19 คน กรุงเทพมหานคร 5 คน บริษัทเอกชน 33 คน และสถาบันการศึกษา 8 คน

“โดยผู้ดมกลิ่นเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ค่าความเข้มกลิ่นที่เก็บตัวอย่างมาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งจะต้องใช้คนดมครั้งละ 6 คน ซึ่งแต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทนในการดมตามที่กรมบัญชีกลางกำหนดคือ 600 บาทต่อตัวอย่าง และในแต่ละครั้งจะดมกลิ่นได้ไม่เกิน 3 ตัวอยาง ซึ่งในปี 2559 มีการทดสอบกลิ่นด้วยการดมจากกรณีปัญหาร้องเรียนรวมมากกว่า 30 เรื่อง ซึ่งวิธีการตรวจวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดมมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ออสเตรียและเยอรมันนี เป็นต้น”นายจตุพร กล่าว 
อธิบดีคพ.กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อให้การติดตามตรวจสอบและวิเคราะห์กลิ่นมีความเป็นมาตรฐาน คพ. ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเก็บตัวอย่างกลิ่นและการตรวจวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 สำหรับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเข้าร่วมจำนวน 50 คน โดยการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคที่ในการตรวจวัดและตรวจวิเคราะห์กลิ่นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ทส. ให้สามารถตรวจสอบและเฝ้าระวังปัญหากลิ่นรบกวนจากการประกอบกิจการต่างๆ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ตลอดจนสถานที่ เลี้ยงสัตว์ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งสามารถให้คำแนะนำในการควบคุมและลดปัญหากลิ่นที่เกิดจากการประกอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


นายพันธศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการส่วนมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม คพ. กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมนุษย์ดมกลิ่นนั้น ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานที่คพ.กำหนดเอาไว้ อายุ 18-60 ปี มีอายุการทำงาน 1 ปี ต้องมีสุขภาพแข็งแรง มีค่าตอบแทนการทำงานตามที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้คือ ตัวอย่างละ 600 บาท
“การวัดโดยการดมกลิ่นแบบนี้ค่าจะออกมาเป็นตัวเลยเลย โดยมีค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามประกาศกรมควบคุมมลพิษ 23 ประเภท เช่น โรงงานบ่มใบยาสูบ โรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานผักผลไม้กระป๋อง โรงงานสุรา โรงงานทำอาหารสัตว์ โรงงานน้ำตาล เป็นต้น โดยขั้นตอนการทำงานคือ เมื่อได้รับการร้องเรียน เจ้าหน้าที่จะไปเก็บตัวอย่าง 2 จุด คือ บริเวณริมรั้วของโรงงาน กับที่บริเวณปล่องระบายอากาศ ในพื้นที่ในเขตอุตสาหกรรม กับนอกเขตอุตสาหกรรม โดยเจ้าหน้าที่จะไปดูดอากาศโดยใช้ปั๊มใส่ถุงไว้ประมาณ 10 ลิตร แล้วเอามาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็ป) ภายใน 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงเรียกมนุษย์ดมกลิ่นที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้มาปฏิบัติหน้าที่ 6 คน มนุษย์ดมกลิ่นที่จะไปดมกลิ่นที่ได้มาจากการเก็บตัวอย่าง จะต้องเตรียมตัวเอง หรือเคลียร์จมูกก่อนทำงาน โดยการดมสารเคมี 5 กลิ่นก่อน คือ กลิ่นดอกไม้ กลิ่นเหม็นไหม้ กลิ่นถุงเท้าอับๆ กลิ่นผลไม้ เช่น กลิ่นแตงโมง ลิ้นจี่ และกลิ่นอุจจาระ”นายพันธศักดิ์ กล่าว 
นายพันธศักดิ์ กล่าวว่า ค่าตัวเลขที่ออกมาคืออัตราการเจือจางของอากาศที่ไม่มีกลิ่น กับตัวอย่างของอากาศที่มีกลิ่น ซึ่งคพ.มีมาตรฐานที่กำหนดเอาไว้อยู่แล้ว เช่น บริเวณ ริมรั้วโรงงานอุตสาหกรรมต้องไม่เกิน 15 หน่วย ในโรงงานอุตสาหกรรมไม่เกิน 1,000 หน่วยเป็นต้น

เมื่อถามว่า ผู้ที่เป็นมนุษย์ดมกลิ่นจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการดมกลิ่นหรือไม่ นายพันธศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีผลอะไร เพราะกลิ่นที่ดม ไม่ได้เป็นกลิ่นของสารเคมี เมื่อถามอีกว่า ผลสรุปที่ได้จากมนุษย์ดมกลิ่นเหล่านี้ จะนำไปอ้างในการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลได้หรือไม่ นายพันธศักดิ์ กล่าวว่า ได้แน่นอน เพราะเรื่องนี้อยู่ในประกาศของกรม และเป็นไปตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535

ขอบคุณที่มา มติชนออนไลน์ 

นายจ้างพร้อม-ลูกจ้างทำใจ หักเงินใช้หนี้ กยศ.-กรอ


“สังคมแรงงาน” ต้องตื่นตัวกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือเรียกสั้นๆ กันว่า “กฎหมาย กยศ.” กำลังจะบังคับให้นายจ้างผู้จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างของตน มีหน้าที่หักเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานของลูกจ้าง ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือที่รู้จักเรียกขานกันว่า “กองทุน กยศ.” ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต



หรือที่รู้จักและเรียกกันในนามว่า “กองทุน กรอ.” ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ.2549 ที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 ชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ลูกจ้างได้รับไปใช้จ่ายเป็นเงินค่าเล่าเรียน ค่าบํารุง ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สถานศึกษาเรียกเก็บ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ เป็นต้น ตามสัญญากู้ยืมเงินเมื่อครั้งที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาคืนกองทุน

ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2560 ที่ผ่านมา โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.2560 อันใกล้จะถึงนี้เป็นต้นไป ซึ่งยังมีระยะเวลาเพียงพอให้นายจ้างได้มีโอกาสเตรียมความพร้อม วางระบบ สร้างกลไก และบริหารจัดการต่อความเปลี่ยนแปลง

ในขณะเดียวกันย่อมเป็นช่วงระยะเวลาให้ลูกจ้างผู้ใช้แรงงานได้มีโอกาสวางแผนการจัดการบัญชีส่วนบุคคล และทำใจเกี่ยวกับการชำระ “หนี้ กยศ.” และ “หนี้ กรอ.” คืนกองทุน รวมทั้งศึกษารับทราบถึง หน้าที่ สิทธิ และความรับผิดตามที่กฎหมายกำหนด

โดย “กฎหมาย กยศ.” ฉบันใหม่นี้ ได้บูรณาการการบริหารจัดการและการดำเนินการของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคตตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ.2549 ที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 ให้เป็นเอกภาพอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และเพิ่มมาตรการในการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้น เรียกว่า “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ในกํากับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

กองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก มีความชัดเจนของการผลิตกําลังคนและมีความจําเป็นต่อการพัฒนาประเทศ หรือในสาขาวิชาขาดแคลน หรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ ตลอดจนเพื่อสร้างความเป็นเลิศให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดี โดยมีคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และควบคุมดูแลกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ติดตามและเร่งรัดให้มีการชําระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาคืนกองทุน

การชำระเงินคืนกองทุน นั้นกฎหมายกำหนดให้นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ได้รับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจากกองทุน มีหน้าที่ต้องชําระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน เมื่อผู้กู้ยืมเงินสําเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว ตามจํานวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแจ้งให้ทราบ ด้วยวิธีการให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ทั้งภาครัฐและเอกชนผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนกองทุนตามจํานวนที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแจ้งให้ทราบ

โดยให้นําส่ง กรมสรรพากร ภายในกําหนดระยะเวลานําส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งการหักเงินได้ดังกล่าว ต้องหักให้กองทุนเป็นลําดับแรกถัดจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการหักเงินเข้ากองทุนที่ผู้กู้ยืมเงินต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม

ฉะนั้นนายจ้างไม่ว่าจะอยู่ในสถานะของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ทั้งภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน อันได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างงาน มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนตามจํานวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ

ทั้งนี้หากนายจ้างผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการหักเงินได้พึงประเมินก็ดี หรือได้ดำเนินการหักเงินได้พึงประเมินเรียบร้อยแล้วแต่ไม่ได้นําส่ง กรมสรรพกร ก็ดี หรือได้ดำเนินการนําส่งแล้วแต่นำส่งไม่ครบตามจํานวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบก็ดี รวมถึงได้ดำเนินการหักเงินได้พึงประเมินและนําส่งกรมสรรพกรเกินกําหนดระยะเวลา

นายจ้างผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจำต้องรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนําส่งในส่วนของลูกจ้างผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกองทุนตามจํานวนที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแจ้งให้ทราบ อีกทั้งต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจํานวนเงินที่นายจ้างผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินยังไม่ได้นําส่ง หรือตามจํานวนที่ยังขาดไป แล้วแต่กรณี

นอกจากนี้ นายจ้างผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้าง ผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) มีหน้าที่จัดส่งข้อมูลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามที่กองทุนร้องขอภายในเวลาอันสมควร

สำหรับลูกจ้างผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของ กยศ. หรือลูกหนี้ของ กรอ. นั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว มีหน้าที่ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแจ้งให้ทราบ และต้องปฏิบัติหน้าที่ของลูกหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินโดยเคร่งครัด กล่าวคือ

ประการที่แรก กระทำการแจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมเงินของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือผู้กู้ยืมเงินของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) แล้วแต่กรณี ต่อนายจ้างที่ตนทำงานด้วยภายใน 30 วันนับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน

ประการที่ 2 ยินยอมให้นายจ้างซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน มีสิทธิหักเงินได้พึงประเมินของตนซึ่งเป็นลูกจ้างของนายจ้างผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชําระหนี้เงินกู้ยืมคืนกองทุนตามจํานวนที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแจ้งให้ทราบ ดังความยินยอมที่ลูกจ้างได้เคยให้ไว้ในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินนั้น

ประการที่ 3 ยินยอมให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนที่อยู่ในครอบครองของนายจ้างหรือบุคคลอื่น

ประการสุดท้าย ยินยอมให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีสิทธิเปิดเผยข้อมูลของตนเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุนได้

ในการหักเงินได้พึงประเมินของลูกจ้าง ผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือลูกหนี้ของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนกองทุนจากเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานดังกล่าวมาข้างต้นนั้น แม้จะมีประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พ.ค.2549 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งเป็นเงินได้ของลูกจ้างเนื่องจากการจ้างแรงงานไว้ก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นให้นายจ้างมีสิทธิหักเงินค่าตอบแทนการทำงานดังกล่าวของลูกจ้างได้ หากเป็นการหักเพื่อชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ตาม ข้อ 31(1) และมาตรา 76(1) ของกฎหมายเดียวกัน

ฉะนั้นนายจ้างจึงสามารถดำเนินการหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งเป็นเงินค่าตอบแทนการทำงานเนื่องจากการจ้างแรงงานของลูกจ้าง ผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือลูกหนี้ของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนกองทุนตามจํานวนที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 แจ้งให้ทราบได้โดยชอบ

ท้ายสุดนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนสำหรับนักเรียนและนักศึกษาซึ่งเป็นเยาวชนและทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของชาติ เงินของกองทุนเป็นเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปี ความเข้มแข็งและมั่นคงของกองทุนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงอยู่ของกองทุน

ผู้ได้รับเงินกู้ยืมจากกองทุนถือว่าเป็นผู้ซึ่งได้รับและมีโอกาสที่ดีทางการศึกษา แต่โอกาสที่ดีดังว่านี้จะไม่อาจตกทอดสู่นักเรียนหรือนักศึกษารุ่นต่อๆ ไปได้เลย หากปราศจาก การชำระเงินคืนกองทุน

การปฏิบัติหน้าที่และประสานความร่วมมือของนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกองทุนเพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 จึงเป็นระบบและกลไกอันนำไปสู่ความเข้มแข็งและมั่นคงของกองทุน สำหรับสร้างโอกาสที่ดีทางการศึกษาให้แก่น้องๆ เยาวชนผู้ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของชาติในอนาคต
.....................................
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
โดย “ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. โสภณ เจริญ”
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ผลสำรวจคนรุ่นใหม่ในวัยทำงาน ต้องการโอกาสก้าวหน้าในสายงาน เงินเดือนเพิ่ม 10%

สำรวจพบคนทำงานรุ่นใหม่ ต้องการโอกาสก้าวหน้าในสายงาน-เงินเดือนเพิ่ม 10%



เปิดผลสำรวจการทำงานในคนรุ่นใหม่ พบการทำงานต้องการความก้าวหน้าในสายงาน และถ้าหากอยากย้ายงานต้องได้ค่าจ้างเพิ่ม 10%
เว็บไซต์ JobsThai.com เว็บจัดหางานเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการสมัครงานของคนไทยประจำปี 2017 พบว่าปัจจุบัน คนไทยวอล์กอินไปสมัครงานที่บริษัทโดยตรงเพียง 7.81% โดยส่วนมากนิยมสมัครงานผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ 40% และสมัครผ่านเว็บไซต์ของบริษัทที่อยากเข้าทำงาน 17.56%
ด้านจังหวัดที่คนไทยอยากไปทำงานมากที่สุดได้แก่ กทม. 26.90% รองลงมาคือชลบุรี 9.83% ด้านสมุทรปราการเป็นอันดับที่ 3 มี 6.61% และถ้าหากเลือกเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ญี่ปุ่นคือประเทศยอดนิยมที่สุด 17.39% สหรัฐอเมริกา 15.84% และประเทศอาเซียนอย่างสิงคโปร์เป็นอันดับที่ 3 ที่ 9.94%

ส่วนสาเหตุที่คนเลือกจะออกจากงาน 22.86% ไม่พึงพอใจด้านค่าตอบแทน รองลงมา19.33% ไม่มีความก้าวหน้าในสายงาน และ 15.62% ไม่พอใจสวัสดิการที่ได้รับ ซึ่งสาเหตุที่เลือกอยู่ออฟฟิศเดิมต่อได้แก่ พึงพอใจด้านค่าตอบแทน18.19% มีเพื่อนร่วมงานที่ดี12.27% และถ้าคิดจะหางานใหม่ 37% กลุ่มคนเหล่านี้มองค่าตอบแทนเพิ่ม5-10%จากเดิม รองลงมาคือขอเพิ่ม 11-20%คิดเป็น 31%ของกลุ่มสำรวจ

ที่มา VoiceTV

กรมการจัดหางาน เตรียมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ เดือนพฤษภาคมกว่า 62,000 อัตรา ย้ำ! ไม่เลือกงาน ไม่ตกงาน

กรมการจัดหางาน สรุปตำแหน่งงานว่างในเดือนพฤษภาคม 2560 กว่า 62,000 อัตรา พบนายจ้างต้องการแรงงานด้านการประกอบชิ้นส่วนมากสุดกว่า 15,500 อัตรา แนะผู้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเลือกเรียนสายอาชีพ เตรียมความพร้อมก่อนสมัครงาน ฝึกทักษะ และอย่าเลือกงาน



นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่กรมการจัดหางานได้รับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานทางเว็บไซต์ http://empui.doe.go.th/auth/index เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน จำนวน 67,685 คน รายงานตัว จำนวน 185,779 คน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างไว้รองรับผู้ประกันตนฯ คนหางานไว้แล้ว จำนวน 62,790 อัตรา 

เป็นตำแหน่งงานว่างจำแนกตามประเภทอาชีพ 10 อันดับ ได้แก่ 

1.แรงงานด้านการประกอบชิ้นส่วน จำนวน 15,668 อัตรา 
2.แรงงานด้านการผลิต แรงงานทั่วไป จำนวน 9,040 อัตรา 
3.เสมียน/พนักงานทั่วไป/พนักงานธุรการ จำนวน 5,533 อัตรา 
4.พนักงานขายและผู้นำเสนอสินค้า จำนวน 2,651 อัตรา 
5.พนักงานบริการลูกค้า จำนวน 1,527 อัตรา 
6.นักการตลาด/เจ้าหน้าที่การตลาด จำนวน 1,375 อัตรา 
7.พนักงานขับรถยนต์ จำนวน 1,359 อัตรา 
8.พนักงานคลังสินค้า จำนวน 1,108 อัตรา 
9.พนักงานบัญชี จำนวน 711 อัตรา 
10.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้า จำนวน 702 อัตรา

จากสถิติตำแหน่งงานว่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สถานประกอบการมีความต้องการจ้างแรงงานในสายอาชีพเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม 

อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางานขอให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ ผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้างได้มีการเตรียมความพร้อมก่อนสมัครงาน อย่าเลือกงาน และขอฝากถึงนักเรียน นักศึกษาที่กำลังจะเลือกเรียน ขอให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองต่อการเลือกเรียนโดยเลือกเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น เนื่องด้วยกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่ในขณะนี้ 

โดยสามารถสอบถามข้อมูล/ ปรึกษา/ติดต่อสมัครงานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 นายวรานนท์ กล่าว