เพราะปัญหาร้องเรียนมลพิษที่เกิดจากโรงงานเกิดจากความเหม็นอย่างมาก ซึ่งเป็นปัญหาระดับต้นๆของโรงงานทุกที่ ทำให้กรมควบคุมมลพิษไม่นิ่งเฉย จึงได้ "กำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ" และวิธีที่ใช้กำหนด คือ การดมกลิ่น นั้นเอง และได้ผลตอบแทนต่อครั้งถึง 600 บาท ซึ่งการจะเป็นผู้ดมกลิ่นนั้นไม่ใช่เรื่อง่ายเลย ต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานที่คพ.กำหนดเอาไว้ อายุ 18-60 ปี มีอายุการทำงาน 1 ปี แถมต้องมีสุขภาพแข็งแรงด้วยเสียด้วย
วันที่ 16 มิถุนายน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาร้องเรียนเรื่องมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 60 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ซึ่งปัญหากลิ่นเหม็นจัดเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนเป็นลำดับแรกมาตลอดทุกปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของปัญหาที่มีการร้องเรียนทุกด้าน จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของประกาศ ทส.เรื่อง “กำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2553 บังคับใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 23 ประเภท โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีการใช้สารเคมีอันตราย ในการผลิต เนื่องจากวิธีตรวจวัดตามประกาศฯ กำหนดให้ใช้วิธีการดมกลิ่น (Sensory test) จมูกของคนดมเพื่อตรวจวิเคราะห์กลิ่น (Panelist) ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่ดมกลิ่นจะต้องผ่านการทดสอบและขึ้นทะเบียนผู้ดมกลิ่นจากคพ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เรื่อง วิธีตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นโดยการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม (Sensory test) และการขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ทดสอบกลิ่นของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2554
นายจตุพร กล่าวว่า โดยล่าสุด คพ. ได้จัดให้มีการทดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดมกลิ่น โดยมีผู้ผ่านและการทดสอบตามประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง บัญชีรายชื่อผู้ทดสอบกลิ่นของคพ.(ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 จำนวนทั้งสิ้น 167 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่คพ. 100 คน กรมทรัพยากรน้ำ 2 คน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 19 คน กรุงเทพมหานคร 5 คน บริษัทเอกชน 33 คน และสถาบันการศึกษา 8 คน
“โดยผู้ดมกลิ่นเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ค่าความเข้มกลิ่นที่เก็บตัวอย่างมาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งจะต้องใช้คนดมครั้งละ 6 คน ซึ่งแต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทนในการดมตามที่กรมบัญชีกลางกำหนดคือ 600 บาทต่อตัวอย่าง และในแต่ละครั้งจะดมกลิ่นได้ไม่เกิน 3 ตัวอยาง ซึ่งในปี 2559 มีการทดสอบกลิ่นด้วยการดมจากกรณีปัญหาร้องเรียนรวมมากกว่า 30 เรื่อง ซึ่งวิธีการตรวจวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดมมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ออสเตรียและเยอรมันนี เป็นต้น”นายจตุพร กล่าว
อธิบดีคพ.กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อให้การติดตามตรวจสอบและวิเคราะห์กลิ่นมีความเป็นมาตรฐาน คพ. ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเก็บตัวอย่างกลิ่นและการตรวจวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 สำหรับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเข้าร่วมจำนวน 50 คน โดยการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคที่ในการตรวจวัดและตรวจวิเคราะห์กลิ่นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ทส. ให้สามารถตรวจสอบและเฝ้าระวังปัญหากลิ่นรบกวนจากการประกอบกิจการต่างๆ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ตลอดจนสถานที่ เลี้ยงสัตว์ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งสามารถให้คำแนะนำในการควบคุมและลดปัญหากลิ่นที่เกิดจากการประกอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายพันธศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการส่วนมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม คพ. กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมนุษย์ดมกลิ่นนั้น ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานที่คพ.กำหนดเอาไว้ อายุ 18-60 ปี มีอายุการทำงาน 1 ปี ต้องมีสุขภาพแข็งแรง มีค่าตอบแทนการทำงานตามที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้คือ ตัวอย่างละ 600 บาท
“การวัดโดยการดมกลิ่นแบบนี้ค่าจะออกมาเป็นตัวเลยเลย โดยมีค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามประกาศกรมควบคุมมลพิษ 23 ประเภท เช่น โรงงานบ่มใบยาสูบ โรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานผักผลไม้กระป๋อง โรงงานสุรา โรงงานทำอาหารสัตว์ โรงงานน้ำตาล เป็นต้น โดยขั้นตอนการทำงานคือ เมื่อได้รับการร้องเรียน เจ้าหน้าที่จะไปเก็บตัวอย่าง 2 จุด คือ บริเวณริมรั้วของโรงงาน กับที่บริเวณปล่องระบายอากาศ ในพื้นที่ในเขตอุตสาหกรรม กับนอกเขตอุตสาหกรรม โดยเจ้าหน้าที่จะไปดูดอากาศโดยใช้ปั๊มใส่ถุงไว้ประมาณ 10 ลิตร แล้วเอามาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็ป) ภายใน 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงเรียกมนุษย์ดมกลิ่นที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้มาปฏิบัติหน้าที่ 6 คน มนุษย์ดมกลิ่นที่จะไปดมกลิ่นที่ได้มาจากการเก็บตัวอย่าง จะต้องเตรียมตัวเอง หรือเคลียร์จมูกก่อนทำงาน โดยการดมสารเคมี 5 กลิ่นก่อน คือ กลิ่นดอกไม้ กลิ่นเหม็นไหม้ กลิ่นถุงเท้าอับๆ กลิ่นผลไม้ เช่น กลิ่นแตงโมง ลิ้นจี่ และกลิ่นอุจจาระ”นายพันธศักดิ์ กล่าว
นายพันธศักดิ์ กล่าวว่า ค่าตัวเลขที่ออกมาคืออัตราการเจือจางของอากาศที่ไม่มีกลิ่น กับตัวอย่างของอากาศที่มีกลิ่น ซึ่งคพ.มีมาตรฐานที่กำหนดเอาไว้อยู่แล้ว เช่น บริเวณ ริมรั้วโรงงานอุตสาหกรรมต้องไม่เกิน 15 หน่วย ในโรงงานอุตสาหกรรมไม่เกิน 1,000 หน่วยเป็นต้น
เมื่อถามว่า ผู้ที่เป็นมนุษย์ดมกลิ่นจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการดมกลิ่นหรือไม่ นายพันธศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มีผลอะไร เพราะกลิ่นที่ดม ไม่ได้เป็นกลิ่นของสารเคมี เมื่อถามอีกว่า ผลสรุปที่ได้จากมนุษย์ดมกลิ่นเหล่านี้ จะนำไปอ้างในการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลได้หรือไม่ นายพันธศักดิ์ กล่าวว่า ได้แน่นอน เพราะเรื่องนี้อยู่ในประกาศของกรม และเป็นไปตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
ขอบคุณที่มา มติชนออนไลน์