แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ข่าวงาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ข่าวงาน แสดงบทความทั้งหมด

Jobthai เผยนิคมอุตสาหกรรม ต้องการแรงงานมากที่สุด

แอดไปเจอข่าวน่าสนใจเผื่อเพื่อนๆที่กำลังหางานจะได้ตั้งทิศทางถูกว่าควรไปหางานที่ไหนที่มันมีงานรองรับ สำหรับน้องๆก็สามารถอ่านได้เช่นกันเพื่อรับมือกับแนวโน้มการหางานทำ



เมื่อวันที่ 19 มีนาคม “จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com)” สรุปภาพรวมความต้องการแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย พบมีความต้องการแรงงานกว่า 10,600 อัตรา โดยมีประเภทงานที่เปิดรับสมัครมากที่สุด ได้แก่ 

ผลิต/ควบคุมคุณภาพ พร้อมเผย นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี มีจำนวนงานเปิดรับมากที่สุดอยู่ที่ 1,623 อัตรา ตามมาด้วย นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งล้วนเป็นสัญญาณที่ดีสะท้อนการตอบรับเรื่องการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนในโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ โครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงทำให้มีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยต้องพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจะเริ่มเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางและแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคส่งออก รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนในด้านโครงสร้างสำคัญขนาดใหญ่ทั่วประเทศ

ด้วยเหตุนี้ จ๊อบไทยดอทคอม ในฐานะเว็บไซต์หางาน สมัครงานอันดับ 1 ของประเทศไทย ที่มีผู้ลงทะเบียนฝากประวัติกว่า 1.4 ล้านคน และมีจำนวนงานจากบริษัทชั้นนำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 90,000 อัตราต่อวัน ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม เพื่อรายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย พบว่ามี 5 ประเภทงานที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด ได้แก่

  • ผลิต/ควบคุมคุณภาพ มีจำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 2,372 อัตรา คิดเป็น 22.5 เปอร์เซ็นต์ ของงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด
  • ช่างเทคนิค มีจำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 2,089 อัตรา คิดเป็น 19.8 เปอร์เซ็นต์
  • วิศวกรรม มีจำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 1,306 อัตรา คิดเป็น 12.4 เปอร์เซ็นต์
  • โลจิสติกส์และซัพพลายเชน มีจำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 520 อัตรา คิดเป็น 4.9 เปอร์เซ็นต์
  • ขาย มีจำนวนเฉลี่ยต่อเดือน 505 อัตรา คิดเป็น 4.8 เปอร์เซ็นต์
นางสาวแสงเดือน กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของจ๊อบไทยดอทคอมยังเผยให้เห็น 5 นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทยที่มีการเปิดรับตำแหน่งงานมากที่สุด โดยพบว่า นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี มาเป็นอันดับแรกที่มีจำนวนงานเปิดรับเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1,623 อัตรา ตามมาด้วย นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง จำนวน 649 อัตรา นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 621 อัตรา นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี จำนวน 495 อัตรา และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง จำนวน 492 อัตรา

สำหรับงานในนิคมอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานสูง ส่วนหนึ่งเพื่อมารองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมจากโครงการสำคัญของรัฐบาล เช่น โครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ปัจจุบันเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นทั้งการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 หรือการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์คเพื่อรองรับอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี เป็นต้น

หายสงสัยแน่นอน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้ตอนไหน ยังไงแล้วได้เท่าไหร่ ไปดูกัน

เบี้ยยังชีพคนชรา สวัสดิการที่รัฐมีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ มาตรวจสอบกันว่า การลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพคนชรา 2560 ใครมีสิทธิบ้าง แล้วจะไปลงทะเบียนได้ที่ไหน 


เบี้ยยังชีพคนชรา หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นับว่าเป็นอีกสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้กับผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน โดยในแต่ละปีก็จะมีการเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่ ๆ มาลงทะเบียน และในปีนี้ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า การลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี 2560 มีรายละเอียดอะไรบ้าง แล้วสามารถไปลงทะเบียนได้เมื่อไหร่ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสที่ควรจะได้รับเงินช่วยเหลือในส่วนนี้ไป


ใครบ้างมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า ใครบ้างที่จะมีสิทธิได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ ต้องมีเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
  • มีสัญชาติไทย
  • มีอายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยการลงทะเบียนของปี 2560 ต้องเป็นผู้สูงอายุที่เกิดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2501 ส่วนผู้สูงอายุที่ทะเบียนราษฎรระบุเฉพาะปีเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น ๆ
  • ต้องไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็น เงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐจัดให้เป็นประจำ 


ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2560 ได้ที่ไหน อย่างไร ?
สำหรับผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพด้วยตัวเอง ได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2560 โดยผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ลงทะเบียน ณ สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ส่วนต่างจังหวัดยื่นได้ที่สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

โดยผู้สูงอายุสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินเบี้ยยังชีพผ่านทางช่องทางไหนได้ตามนี้
  • รับเป็นเงินสดด้วยตนเอง 
  • ให้ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจรับแทน 
  • โอนเข้าบัญชีธนาคารในนามของผู้สูงอายุ 
  • โอนเข้าบัญชีธนาคารในนามของผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้สูงอายุ
หลักฐานในการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
  1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย 
  2. ทะเบียนบ้านตัวจริงพร้อมสำเนา 
  3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารตัวจริงพร้อมสำเนา สำหรับผู้ขอรับเงินผ่านธนาคาร
กรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถมาจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินแทนได้ โดยผู้แทนจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจมายื่นคำขอขึ้นทะเบียนด้วย



เบี้ยยังชีพที่ผู้สูงอายุจะได้รับ
ปัจจุบันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ โดยผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสียชีวิต ซึ่งแบ่งได้ตามนี้
  • ช่วงอายุ 60 - 69 ปี ได้รับเงิน 600 บาทต่อเดือน
  • ช่วงอายุ 70 - 79 ปี ได้รับเงิน 700 บาทต่อเดือน
  • ช่วงอายุ 80 - 89 ปี ได้รับเงิน 800 บาทต่อเดือน
  • ช่วงอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนในปี 2560 จะเริ่มได้รับเบี้ยยังชีพงวดแรกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลมีแนวคิดที่จะปรับขึ้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เพราะเบี้ยยังชีพที่จ่ายในตอนนี้มีอัตราที่ต่ำเกินไป ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีแนวคิดว่าจะปรับเพิ่มเป็น 1,200 - 1,500 บาทต่อเดือน ซึ่งก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วจะมีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้สำเร็จตามที่หวังไว้หรือไม่

สำหรับผู้สูงอายุท่านใดมีคุณสมบัติครบถ้วน และมีความประสงค์จะรับสวัสดิการนี้ ก็อย่าลืมไปขึ้นทะเบียนกัน ย้ำอีกทีว่าการลงทะเบียนในปี 2560 จะเริ่มในวันที่ 1-30 พฤศจิกายน นี้แล้ว ส่วนใครที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ เว็บไซต์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือโทร. 1300

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย
ขอขอบคุณเนื้อหา Kapook.com

เตือนภัย !! กระทรวงแรงงาน” เผยคนหางานถูกหลอกไปทำงานตปท.ทางสื่อออนไลน์มากขึ้น


กระทรวงแรงงาน เผยสถิติรับเรื่องร้องทุกข์จากคนหางานถูกสาย/นายหน้าเถื่อนหลอกลวง ช่วง 7 เดือนแรกปี 2560 กว่า 300 คน พบส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งถูกหลอกทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยจ่ายเงินแล้วแต่ไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงาน ทั้งยังติดต่อผู้หลอกลวงไม่ได้
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันการไปทำงานต่างประเทศยังคงเป็นที่ต้องการของคนหางาน เพราะเชื่อว่าจะสร้างรายได้ดีให้กับคนหางาน ดังนั้นจึงเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยอ้างว่ามีตำแหน่งงานดี รายได้ดีในต่างประเทศ และสามารถช่วยจัดส่งไปทำงานได้ ดังจะเห็นได้จากเมื่อช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้รับเรื่องร้องทุกข์จากคนหางานกรณีถูกสาย/นายหน้าเถื่อนหลอกลวงถึงจำนวน 317 คน โดยจ่ายเงินให้ไปแล้วแต่ไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงาน ซึ่งผู้ถูกหลอกลวงส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ และจากการตรวจสอบพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ร้องทุกข์ ถูกชักชวนให้ไปทำงานต่างประเทศผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟชบุค ไลน์ เป็นต้น โดยผู้ถูกหลอกลวงไม่เคยพบตัวตนที่แท้จริง ไม่ทราบชื่อและนามสกุลของผู้หลอกลวง แต่ยอมโอนเงินให้เพราะเชื่อว่าเป็นงานดี รายได้ดีกว่าทำงานอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จึงกล้าเสี่ยงจ่ายเงินให้ไป แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงานตามสัญญา ทั้งยังติดต่อผู้หลอกลวงไม่ได้อีกด้วย
สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้น ขณะนี้ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 195 คน โดยผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น จึงขอเตือนคนหางานอย่าหลงเชื่อผู้ชักชวนไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะการสมัครผ่านทางเฟซบุ๊กและไลน์ โดยยอมจ่ายเงินให้ไปทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ เพราะการเปิด/ปิดบัญชีกระทำได้โดยง่าย ซึ่งเมื่อคนหางานโอนเงินให้ไปแล้วก็จะปิดบัญชีหลบหนีไป เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงและเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี ขอให้ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร.0 2245 6763 หรือสายด่วน 1694 นายวรานนท์กล่าว

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก เวปไซต์ประชาชาติ 

ธ.ก.ส.เตรียมจัดหลักสูตรอาชีพเสริมแก่ผู้มีรายได้น้อย

ธ.ก.ส.เตรียมจัดทำหลักสูตรอบรมอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย หวังช่วยเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี พร้อมแจกบัตรสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยหลังจัดทำเสร็จ 



นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ในส่วนของผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส.ได้ส่งรายชื่อให้กระทรวงการคลังตรวจสอบสิทธิ์ตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนดเรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมสนับสนุนโครงการของรัฐ จึงเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้สำหรับแจกบัตรสวัสดิการให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนกับทางธนาคาร หรือสามารถเข้ามารับได้ที่ ธ.ก.ส. 1,275 สาขาทั่วประเทศ เพื่อนำบัตรไปใช้สำหรับบริการพื้นฐานทั้งขึ้นรถเมล์ -รถ บขส.-รถไฟ-ค่าน้ำประปา-ไฟฟ้าฟรี

ทั้งนี้ในส่วนของแนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท ในส่วนผู้เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.และขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับ ธ.ก.ส. จึงเตรียมเข้าไปช่วยเหลือสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เช่น เปิดหลักสูตรอบรมอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวให้มีอาชีพนอกเหนือจากเกษตรกร หรือมีอาชีพหลากหลายมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย หากมีรายได้ 30,000 บาทต่อปี ต้องผลักให้มีรายได้ถึง 100,000 บาทต่อปี และหากมีรายได้ 100,000 บาท ต้องผลักดันให้สูงขึ้นจากเดิม เพื่อส่งเสริมการทำอาชีพให้กลุ่มดังกล่าว

กรมการจัดหางาน รับสมัครฝึกอบรมไปปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น 3 ปี มีเงินเดือนตลอดการฝึกงาน

กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM ปี 2560 ตำแหน่ง คนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี สมัครระหว่างวันที่ 29- 31 พฤษภาคม 2560 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย



นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM ปี 2560 ครั้งที่ 2 เพศหญิง ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี โดย IM ประเทศญี่ปุ่นจะจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ (กรุงเทพฯ - โตเกียว - กรุงเทพฯ) 

และได้รับเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกงานโดยในเดือนแรกได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณ 24,490 บาท โดยผู้รับผิดชอบค่าที่พัก ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ยกเว้นค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายส่วนตัว 

เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 ผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคจะฝึกปฏิบัติภายใต้สัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงานญี่ปุ่น จะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ฝึกปฏิบัติงานจะต้องรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และค่าประกันสังคม รวมทั้งค่าภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อฝึกครบ 3 ปี จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และจะได้รับเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 183,690 (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2560) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย

คุณสมบัติผู้สมัคร
  1. เพศหญิง อายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ 
  2. จบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่จำกัดสาขาวิชา 
  3. ความสูงไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร น้ำหนักได้สัดส่วนกับส่วนสูง สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีรอยสัก และไม่มีความผิดปกติทางร่างกาย 
  4. ไม่มีความประพฤติเสีย ไม่เคยเป็นผู้ไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่า “Technical Intern” 
  5. ไม่เคยทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยการแจ้งไปทำงานด้วยตนเอง ไม่เคยทำงานหรือเข้าเมืองหรือ พำนักอาศัยโดยผิดกฎหมายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ 
  6. ไม่เคยเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกและถูกตัดสิทธิออกจากการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น 
  7. สายตาปกติ และไม่บอดสี 
  8. สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอาจเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการฝึกอบรมในประเทศไทยและระหว่างการฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นได้ 
หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร 
  • ใบสมัครสอบคัดเลือก 
  • รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก และไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป 
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หลักฐานการศึกษา พร้อมสำเนาอย่างละ 1 ฉบับ ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าสุขภาพแข็งแรง สายตาปกติและตาไม่บอดสี ประวัติส่วนตัว ใบผ่านงาน (ถ้ามี)
ผู้สนใจติดต่อยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 8 ภายในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 หรือที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2560 ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 1021 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694



จ่อลดข้าราชการ เหตุ รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณสำหรับการจ่ายเงินบำนาญ

ไม่รู้ว่าพอได้เห็นข่าวนี้แล้ว... คนที่เรียนจบใหม่และมีความฝันจะเป็นข้าราชการ



จะ “เสียกำลังใจ” มากน้อยแค่ไหน เพราะมีความเป็นไปได้จากปากคำของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าในการประชุมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบาย กำลังคนภาครัฐ (คปร.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการพิจารณามาตรการลดจำนวนข้าราชการพลเรือน

000 จากที่ผ่านมาแม้ได้มีการยุบอัตราตำแหน่งข้าราชการบางส่วน หลังจากมีผู้เกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็มีส่วนราชการบางแห่งยื่นขออัตราตำแหน่งที่ถูกยุบกลับคืน เพื่อทดแทนส่วนของผู้ที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งคปร.อนุมัติคืนให้บ้าง ไม่คืนให้บ้าง แต่จากนี้ไป คปร.จะกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถควบคุมหรือลดอัตราตำแหน่งข้าราชการในส่วนที่ไม่จำเป็น โดยพยายามให้เปลี่ยนไปใช้พนักงานราชการมากขึ้น

มาตรการตรงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จริงดังว่าที่ไม่มีความชัดเจน เพราะที่ผ่านมาบางหน่วยงานก็ขอเพิ่มอัตราได้ บางหน่วยงานขอไม่ได้ ทั้งที่ให้เหตุผลไปแบบเดียวกัน ก็เลยเป็นความ “ลักลั่น” ในแวดวงข้าราชการมายาวนาน แม้แต่การสอบ “ครูผู้ช่วย” ที่อยู่ระหว่างเตรียมจัดการสอบเร็วๆ นี้ก็แบบเดียวกัน ทุกวันนี้ “ครู” ทั่วประเทศ ขาดแคลนมหาศาล แต่ก็ยังมี “ครูอัตราจ้าง” เต็มบ้านเต็มเมือง

เป็นครูที่ทำสัญญารายปี ไม่ได้มีสวัสดิการแบบข้าราชการทั่วไป และถูกเปรียบเปรยเลวร้ายถึงขั้นสวัสดิการแย่เสียกว่า “สาวโรงงาน” แล้วอย่างนี้จะมีจิตใจสอนเด็กให้เป็นคนดี มีความรู้ทางวิชาการได้อย่างไร ที่สำคัญในขณะที่คัดเลือกครู มีการกำหนดกติกา ต้องมี “ใบประกอบวิชาชีพครู” ถึงกับเถียงกันแทบเป็นแทบตาย แต่กับครูชั่วคราวกลับระบุคุณสมบัติไว้เพียงผิวเผิน ที่บางคนเพียงเป็น “หลานผอ.” ก็เป็นครูได้

อาจารย์วิษณุ บอกว่าบางหน่วยงานที่จำเป็นต้องเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการ ก็ทำได้อย่างในกรณีเป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งให้เหตุผลที่ฟังแล้วค่อนข้าง “เศร้าใจ” ว่าการเปลี่ยนไปใช้บุคลากรที่เป็นพนักงานราชการนั้น มีข้อดีคือทำให้รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณสำหรับการจ่ายเงินบำนาญ ขณะที่การประเมินผลงานก็อาจไม่จำเป็นต้องทำทุก 4 ปี แต่อาจจะมีการพิจารณาให้เร็วขึ้นกว่านั้น...แล้วการงานที่ไม่มั่นคงแบบนี้จะหาคนที่ “มีใจ” เข้าสู่ราชการอย่างไร

ทุกวันนี้งานในภาคเอกชน แม้จะไม่มี “บำนาญ” แต่การที่ก็มีสวัสดิการแบบ   แถมยังค่าตอบแทนสูงที่พอจะทดแทนกันได้ ที่สำคัญสามารถเติบโตได้ตามความสามารถ โดยไม่ต้องอาศัยเป็นว่าเป็น “เด็กใคร” ?!!

...........................................

อัชชาวดี aucha.naru@gmail.com